การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ถือว่ามี ความจำเป็นสำหรับเด็กและเยาวชนในยุค 4.0 เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสแสดงออก พร้อมโชว์ศักยภาพและทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
ดังเช่นกิจกรรมดีๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ผู้ใหญ่ใจกว้างเปิดโอกาสให้เด็กเยาวชน รวมตัวจัดกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ ขึ้นที่ Art Gallery ถนนราชดำเนิน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้ชื่องาน "โคราชเมืองสร้างสรรค์ โคราชยิ้ม เมืองน่าอยู่" สนับสนุนโดยแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ทั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ ขบวนเด็กเยาวชนส่งเสียงถึงผู้ใหญ่ เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติในหลากหลายหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น เสวนาเด็กเล่าเรื่อง ชีวิตเสี่ยงๆ ช่วยกันเปลี่ยนให้สร้างสรรค์ เปิด Forum เติมทักษะการรู้เท่าทันสื่อ เหล้า พนัน เปิดลานยิ้ม (เดินยิ้ม) ได้เล่น ได้เรียนรู้ ได้สร้างสรรค์ งานศิลปะ ภูมิปัญญาชาวบ้าน การทำขนมพื้นบ้าน ของเล่นพื้นถิ่นและการผลิตสื่อสร้างสรรค์ ฯลฯ
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวว่า ปัจจุบันคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนตกอยู่ท่ามกลางสภาวะเสี่ยง มีสภาพแวดล้อมที่น่าห่วง มีพื้นที่ในชุมชนที่ไม่ปลอดภัย บางพื้นที่ถูกทิ้งรกร้าง ถนนสกปรก ขยะ ลำคลองเน่าเหม็นส่งกลิ่น ซอยมืดเปลี่ยว บางพื้นที่เป็นจุดมั่วสุม วงเหล้า วงพนัน ยาเสพติด มีความรุนแรงอยู่ในพื้นที่ ขาดพื้นที่สร้างสรรค์ ขาดพื้นที่เล่น พื้นที่รวมกลุ่มของคนในชุมชน ต่างคนต่างอยู่ เด็กเยาวชนต้องใช้ชีวิตท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง ยาเสพติด เหล้า บุหรี่ การพนัน การใช้ความรุนแรง และมีแต่สื่อไม่สร้างสรรค์
"สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นการเปิดพื้นที่สำหรับเด็กเยาวชนให้มีส่วนร่วม มีโอกาสใช้ความคิดสร้างสรรค์แสดงออกให้ได้ดีที่สุด เพราะคนกลุ่มนี้เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาชาติ และนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ดังนั้นต้องส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชน ให้เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างทักษะภูมิคุ้มกัน ทักษะการรู้เท่าทัน มีความใส่ใจต่อชุมชน สังคม และประเทศนำไปสู่สังคมสุขภาวะ โดยจัดสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กเยาวชน ชุมชน เมือง สังคม ลดปัจจัยเสี่ยง เปลี่ยนพื้นที่ไม่ปลอดภัยให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ที่สำคัญต้องส่งเสริมศักยภาพในตัวเด็กเยาวชน ให้เป็นพลเมือง เป็นนักสื่อสารปฏิบัติการ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ชุมชนสังคม" นายวิเชียรกล่าว
ขณะที่ นางสาวปรัชทิพา หวังร่วมกลาง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา มองว่า ปัญหาที่ผ่านมาคือ เด็กเยาวชนขาดพื้นที่ ขาดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ขาดการส่งเสริม สนับสนุนอย่างเข้าใจ สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ พัฒนาสร้างสรรค์ เด็กเยาวชนอยู่ลำพัง อยู่กับกลุ่มเพื่อน หลายคนโดดเดี่ยว ทำให้พฤติกรรมเข้าถึงปัจจัยเสี่ยงได้ง่าย ทั้งดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เสพยาเสพติด แว้นกลางคืน การแช้ต ติดเกม การเสี่ยงโชค ซึ่งเด็กที่อยู่ท่ามกลาง 3 สภาพแวดล้อมเหล่านี้ หากเขาได้มีโอกาสทำกิจกรรมสร้างสรรค์ มีพื้นที่ มีส่วนร่วมกับชุมชน ก็จะเกิดความภูมิใจ เห็นคุณค่าในตัวเอง และมีกำลังใจทำในสิ่งดีๆ
"สิ่งที่เด็กเยาวชนควรได้รับ คือการเข้าถึงปัจจัยด้านบวก ทั้งการสร้างภูมิรู้ ภูมิปัญญา ส่งเสริมวิชาชีวิต และวิชาทางสังคม รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่สำคัญต้องเพิ่มพื้นที่และสื่อสร้างสรรค์ให้เด็กเยาวชนได้เข้าถึงมากขึ้น และกิจกรรมครั้งนี้ก็เป็นการร่วมขับเคลื่อนให้โคราชเป็นเมืองแห่งการสร้างสรรค์ เมืองแห่งรอยยิ้ม และเชื่อว่าจะเป็นการช่วยขยับสานต่อไปยังท้องถิ่นอื่นๆ นำแนวคิดนี้ไปผลักดันให้เกิดพื้นที่แห่งความสุขสำหรับคนทุกเพศทุกวัย สำคัญที่สุดคือการมุ่งให้เห็นคุณค่าในตัวเองของเด็กเยาวชน" นางสาวปรัชทิพากล่าว
ด้าน "น้องกร" หรือนายกฤตยชญ์ ทุ่งกระโทก แกนนำเยาวชนสารภี เครือข่ายโคราชยิ้ม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เครือข่ายเยาวชนกว่า 100 คน ได้จัดเวทีระดมความคิดเห็น พร้อมเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยสิ่งที่เครือข่ายเด็กเยาวชนอยากให้ใส่ใจและไม่มองข้ามคือ การให้ความรู้เรื่องการเท่าทันสื่อ สื่อสารและใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ มีสื่อดีที่หลากหลายสร้างสรรค์สื่อภูมิปัญญาให้มีชีวิต ลดพื้นที่เสี่ยง เกิดพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน และพื้นที่สาธารณะ เพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ เข้าถึงและเหมาะกับทุกเพศทุกวัย ส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน ปกป้องเด็กเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยง บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการจัดโซนนิงร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ควรให้ร้านเหล่านี้ห่างออกไปไม่ต่ำกว่า 500 เมตร
"อยากให้ผู้ใหญ่เห็นถึงพลังของเด็กๆ เห็นความร่วมมือไม้ร่วมมือของพวกเรา ที่อยากมีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง อยากเห็นเมืองโคราชและทุกๆ จังหวัดเกิดมาตรการส่งเสริมสังคม มีพื้นที่และสื่อสร้างสรรค์ สู่กลไกชุมชน ท้องถิ่น และนโยบาย ทำให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่ปลอดภัย พื้นที่สร้างสุข และเป็นพื้นที่แห่งรอยยิ้ม" น้องกรกล่าว
ท้ายสุดน้องเล็ก "แอนนี่" ด.ญ.อรนภา ชำนาญหัตต์ อายุ 14 ปี นักเรียนโรงเรียนสุรนารีวิทยา มองว่า ส่วนตัวแล้วหนูเป็นคนที่ชอบทำกิจกรรม พอตัวเองมีเวลาว่างก็อยากมาทำอะไรที่มันสร้างสรรค์ และที่เข้าร่วมงานครั้งนี้ ก็เพราะเห็นว่าได้ประโยชน์ ได้พัฒนาตัวเอง ได้เรียนรู้ถึงวิถีชุมชน ได้เพื่อนใหม่ๆ และที่สำคัญทำให้คนอื่นได้รู้ว่าบ้านเรามีอะไรดี ได้สื่อสารให้คนเห็นสิ่งดีๆ ในจังหวัดตัวเอง งานวันนี้เหมือนเรามาปล่อยของ มาโชว์ศักยภาพของตัวเองว่าเราเป็นเยาวชนที่ทำอะไรดีๆ ได้ ไม่ใช่เที่ยวเล่นอย่างเดียว อยากฝากถึงผู้ใหญ่ว่า เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นขอโอกาสขอพื้นที่ให้เขาออกสู่โลกภายนอก ให้เขามีพัฒนาการ มีวัคซีน มีคุณภาพชีวิตที่ดี
"ถ้าปล่อยให้เด็กอยู่บ้าน ก็ไม่พ้นนอนเล่นมือถือ อ่านการ์ตูน ดูทีวี เสพสื่อ ซึ่งมันไม่เกิดประโยชน์หรือสร้างสรรค์อะไรกับเด็ก แต่ถ้าผู้ใหญ่มีพื้นที่ดีๆ เขาก็จะได้ใช้เวลาของเขาที่มีค่ามาทำกิจกรรมดีๆ เพื่อพัฒนาตัวเอง กล้าแสดงออก มีความคิดสร้างสรรค์ ส่วนเด็กคนไหนที่มีเรื่องดีๆ มีของดีที่ทำอยู่แล้ว ก็ควรเอามาแชร์ มาแบ่งปันให้คนสังคมได้รับทราบ และวันนี้หนูได้เห็นแล้วว่าเด็กเยาวชนเข้าอยากที่จะมารวมตัวกันทำสิ่งดีๆ" น้องแอนนี่ทิ้งท้าย
พื้นที่สร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นทางออกให้เด็กและเยาวชนได้เสริมสร้างทักษะชีวิต เติบโตเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง… และพวกเขาต่างก็หวังว่าผู้ใหญ่ใจดีจะสนับสนุนกิจกรรมเช่นนี้ตลอดไป
อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่
https://www.naewna.com/likesara/365390