ตำบลดอน เดิมชื่อตำบลศรีษะกระบือ และเปลี่ยนเป็นชื่อตำบลหนองผักแว่น และต่อมาเปลี่ยนเป็นตำบลดอนจนถึงปัจจุบัน ตั้งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอปักธงชัย ประกอบด้วย 12 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 บ้านดอน หมู่ 2 บ้านใหม่โพธิ์งาม หมู่ 3 บ้านจังหรีด หมู่ 4 บ้านพร้าว หมู่ 5 บ้านหนองกรด หมู่ 6 บ้านส่องเหนือ หมู่ 7 บ้านส่องใต้ หมู่ 8 บ้านหนองกระสอบ หมู่ 9 บ้านไม้เสี่ยว หมู่ 10 บ้านหนองผักไร หมู่ 11 บ้านโกรกหว้า หมู่ 12 บ้านตะกุด (ข้อมูลจากเว็ปไซต์ตำบลดอน)
ห้องเรียนชุมชนสร้างสรรค์ “บ้านพร้าว”
บ้านพร้าว หมู่ 4 ตำบลดอน มีทั้งหมด 134 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมด 493 คน ก่อตั้งตั้งแต่พุทธศักราช 2417 อายุประมาณ 145 ปี ตั้งแต่ราชกาลที่ 5 จากคำเล่าขานของคนรุ่นเก่าว่า มีชาวลาวพรวนพร้าวได้ถูกกวาดต้อนมาจากกรุงเวียงจันทน์ มาตั้งบ้านเรือนริมฝั่งลำน้ำลำพระเพลิง ชาวบ้านเรียกกันว่า ลาวพร้าว ต่อมาเรียกตามชื่อว่า บ้านพร้าว เมื่อได้ตั้งบ้านเรือนเป็นหลักเป็นฐาน ได้ช่วยกันสร้างวัดประจำหมู่บ้านขึ้นเพื่อประกอบสาธารณกุศลต่างๆ ได้พระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2447 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 18 เมตร ยาว 24 เมตร มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือมีนายเพิ้ม โคตรจังหรีด จุดเด่นของบ้านพร้าวคือ โบสถ์ไม้เก่า อาชีพคนส่วนใหญ่ ทำนา ทำไร่ ปลูกผักสวนครัว
ประเพณีบ้านพร้าวมีวัฒนธรรมประเพณีที่คล้ายคลึงกับชุมชนอื่นในตำบลดอน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเพณีทางศาสนาที่คนในชุมชนปฏิบัติตามกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะเป็น งานทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ตักบาตรเวียนเทียนในวันสำคัญทางศาสนา การทำบุญกลางบ้าน แห่นางแมว ตักบาตรวันสงกรานต์(วันปีใหม่ไทย) ในสมัยก่อนจะมีการตักบาตรทำบุญ ก่อเจดีย์ทราย รำโทนและการเล่นสะบ้า เป็นต้น
ประเพณีงานเทศน์มหาชาติ มักจะจัดขึ้นใน เดือน 3 ของไทย (ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์– ต้นเดือนมีนาคม) เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรอันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระบรมโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะและออกบวชจนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 13 กัณฑ์ ซึ่งก่อนงาน 1 วันจะมีการร่ายคาถาพันในช่วงเย็นและในวันรุ่งขึ้นจะนำขนมที่ใช้ประจำในงานเทศน์มหาชาติ คือ ขนมหูช้าง นางเล็ด ดอกจอก และถวายให้พระสงฆ์และวัดเมื่อเสร็จพิธีในแต่ละกัณฑ์
ความเชื่อบ้านพร้าวมีพิธีกรรมการเลี้ยงศาลตาปู่บ้าน (ปู่หลวงคง) ซึ่งปัจจุบันจะไปเลี้ยงที่ศาลตาปู่ และทำบุญกลางบ้าน มักจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเดือน 6 ไทย เพราะเชื่อว่าจะคอยปกป้องคุ้มครองคนในหมู่บ้านให้แคล้วคลาดปลอดภัย หรือใครมาบนบานสารกล่าวอะไรไว้ถ้าได้ตามที่ขอก็จะมาแก้บนที่ศาลนี้ แต่ถ้าไม่ได้ดังคำขอก็ไม่ต้องมาแก้ ซึ่งพิธีกรรมและสิ่งของที่ใช้ในการเลี้ยงศาลตาปู่กับการแก้บนนั้นจะใช้ของเซ่นไหว้ที่แตกต่างกัน คือ
การเลี้ยงศาลตาปู่ประจำปี จะมีการตีโทน มีร่างทรงชื่อนางเตาะ เพชรเกษม เพื่อสื่อสารกับชาวบ้าน (ชาวบ้านจะขอสิ่งต่างๆจากร่างทรง เช่น ขอให้ฝนตก ขอให้ปลอดภัยจากสิ่งต่างๆ ขอหวย เป็นต้น) และมีของเซ่นไหว้ ได้แก่ หัวหมู ไก่ต้ม เหล้าขาว น้ำแดงหรือน้ำต่างๆ ขนมโบราณ ผลไม้ตามฤดูกาล กรวย 6 อัน ผ้าขาว ผ้าไหมผ้าแพร แป้ง และสิ่งของอื่นๆที่ชาวบ้านมีสามารถนำมาเซ่นไหว้ได้
การแก้บน จะนิยมแก้ด้วย เหล้าขาว 1 ขวด ไก่ต้ม 1 ตัว และน้ำแดง หรือสิ่งของอื่นๆที่ได้บนไว้ เช่น ไข่ต้ม หัวหมู หรือแม้กระทั่งการแสดงต่างๆ
ซึ่งสิ่งของที่นำมาเซ่นไหว้เมื่อเสร็จพิธีกรรมแล้วคนที่มาร่วมงานจะแบ่งกันรับประทานและนำกลับบ้านเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
วิถีชีวิต ชาวบ้านพร้าวเป็นชุมชนขนาดกลาง ซึ่งมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย จัดงานตามประเพณีของชุมชน สมัยก่อนปลูกข้าวด้วยวิธีการดำ เนื่องจากมีน้ำเพียงพอ สามารถควบคุมระดับน้ำและวัชพืชในนาได้ ได้ผลผลิตมากแต่ใช้ต้นทุนสูงเพราะใช้แรงงานคนตั้งแต่ถอนกล้า ดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าวด้วยมือ (ใช้เคียวเกี่ยวข้าว) การตีหัวข้าว ซึ่งสามารถทำนาได้ 2 ครั้ง/ปี และเลี้ยงวัวเลี้ยงควายเพื่อใช้ในการเกษตร เช่น การไถนา การเก็บเกี่ยวผลผลิต การนวดข้าวใช้วัวควายนวดฟ่อนข้าวที่ตีหัวข้าวแล้วเพื่อให้เมล็ดข้าวที่ยังไม่หลุดให้หลุดออก เป็นต้น ปัจจุบัน นิยมปลูกข้าวด้วยวิธีการหว่านตมและหว่านแห้ง เพราะมีกรรมวิธีในการทำที่ง่ายกว่า และได้ผลผลิตเร็วกว่าวิธีการดำ แต่จะควบคุมวัชพืชได้ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก จึงต้องใช้ปุ๋ยเคมีและยาคุมวัชพืช ซึ่งปัจจุบันในแต่ละปีสามารถปลูกข้าวได้ 1 ครั้ง/ปี เพราะไม่ได้อยู่ติดกับคลองชลประทาน และใช้รถไถ รถเกี่ยวข้าวแทนแรงงานคนและสัตว์ เพราะมีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกเข้ามา
อาหารพื้นถิ่น/อาหารโบราณ อาหารในท้องถิ่นไม่ได้แตกต่างจากท้องถิ่นอื่น แต่จะมีอาหารโบราณที่ปัจจุบันหากินยากเพราะวัตถุดิบในการทำนั้นหายากจึงไม่ค่อยมีคนทำ เช่น แกงหัวตาล แกงบอน แกงขี้เหล็ก แกงปลาปั้น ผักพื้นบ้าน และขนมไทยตามช่วงเทศกาล เช่น ขนมหูช้าง ขนมนางเล็ด ขนมดอกจอก ขนมพัก ขนมห่อ เป็นต้น
การละเล่น สมัยก่อนมีการละเล่นสะบ้า รำโทน ในช่วงวันสงกรานต์ แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปปัจจุบันจึงไม่มีการละเล่นนี้แล้ว และสมัยนี้นิยมเล่นลูกแก้ว กระโดดยาง หมากเก็บ เป็นบางครั้ง ปัจจุบันวัยรุ่นในชุมชนนิยมเล่นกีฬาสากล เช่น ฟุตบอล ตะกร้อ เป็นต้น
ภูมิปัญญา
ขนมถ้วยสูตรโบราณ ยายเป้า นาง อรอุมา อภิชาตเมธี อายุ 72 ปี บ้านเลขที่ 14 ม. 4 ต.ดอน อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เริ่มทำตั้งแต่สมัยยังสาว ยายเป้าไปทำงานที่โรงเจ และได้เรียนรู้การทำขนมหวานจากบ้านโนนอีแซว ได้ดัดแปลงพัฒนาเรื่อยมาจนเป็นสูตรของตนเอง ใช้มะพร้าวเป็นลูก ขูดด้วยมือ (กระต่ายขูดมะพร้าว) นึ่งด้วยเตาถ่าน รสชาติกลมกล่อม ไม่หวานจนเกินไป เน้นมัน และเก็บขนมไว้ได้นาน ปัจจุบันพัฒนาเป็นหนึ่งห้องเรียนภูมิปัญญาส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กเยาวชนและคนทั่วไป
บ้านพอเพียง ลุงชุบ นายบุญชุบ กลอนดอน บ้านเลขที่ 25 ม. 4 ต.ดอน อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ปลูกผักสวนครัว ทำสมุนไพร สูตรปลาร้าบอง เริ่มจากปลูกไว้สำหรับกินเองในบ้าน มีเหลือก็ขายบ้าง ปัจจุบันพัฒนาเป็นหนึ่งห้องเรียนภูมิปัญญาส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กเยาวชนและคนทั่วไป
แหล่งเรียนรู้
วัดบ้านพร้าว ตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2417 จากคำเล่าขานของคนรุ่นเก่าว่า มีชาวลาวพรวนพร้าวได้ถูกกวาดต้อนมาจากกรุงเวียงจันทน์ มาตั้งบ้านเรือนริมฝั่งลำน้ำลำพระเพลิง ชาวบ้านเรียกกันว่า ลาวพร้าว ต่อมาเรียกตามชื่อว่า บ้านพร้าว เมื่อได้ตั้งบ้านเรือนเป็นหลักเป็นฐาน ได้ช่วยกันสร้างวัดประจำหมู่บ้านขึ้นเพื่อประกอบสาธารณกุศลต่างๆ ได้พระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2447 เขตวิสุงคามสีมา และมีอุโบสถ กว้าง 16 เมตร ยาว 18 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2445 เป็นอาคารไม้