ถนนโพธิ์กลางมีตำนานเล่าขานถึงการเกิดมีของต้นโพธิ์กลางถนน แม้วันนี้จะไม่ปรากฏมีต้นโพธิ์นั้น แต่รากของอดีตยังคงเหยียดลึกฝังแน่นอยู่ในแผ่นดิน รากราชสีมารากภูมิปัญญาเก่า ที่ยังคงดำรงอยู่คู่กับรากใหม่ของคนในปัจจุบัน ณ ถนนโพธิ์กลาง ที่ทุกคนจะมารวมกันเพื่อร่วมภาคภูมิใจ ในรากของชาวจังหวัดนครราชสีมา |
หลายคนสงสัยว่าทำไมงานนี้ไม่ใช้ชื่อว่า รากโคราช ทำไมใช้ชื่อว่า รากราชสีมา สาเหตุเพราะ คำว่า ราชสีมา ใช้มาก่อนคำว่าโคราช
จากบันทึกประวัติศาสตร์ได้ศึกษาไว้ ระบุว่า
โคราช (อ่านว่า โค-ราด) เพี้ยน มาจากคำกร่อนว่า ครราช
(อ่านว่า คอน-ราด) จากชื่อเต็ม ของ นครราชสีมา
นครราชสีมา หมายถึง เมืองอันเป็นพระราชอาณาเขต (ของกรุงศรีอยุธยา)
นครราชสีมา เป็นคำ บาลี สันสกฤต
นคร แปลว่า เมือง
ราช แปลว่า พระราชา
สีมา แปลว่า เขต แดน
ภาษาปาก ครราช แล้วกลายเป็น โคราช จึงติดปากมากกว่า นครราชสีมา
ถนนโพธิ์กลางเป็นพื้นที่เก่าแก่ขนส่งและค้าขายในอดีตก่อนเข้าประตูเมืองโคราช เป็นย่านคนไทยเชื้อสายจีน และคนไทยลาวอาศัยอยู่ และสี่แยกเต๊กฮะ มีอาคารบ้านไม้เก่าสองชั้น
ชุมชนดั้งเดิมชื่อตรอกตีเหล็กอดีตเป็นชุมชนชาวสวนและร้านตีเหล็กอยู่ในชุมชน ปัจจุบันสองข้างทางมีอาคารพาณิชย์สองฝั่ง ค้าขายตลอดเส้นถนนโพธิ์กลาง มีศาลเจ้า มีวัด มีอาชีพต่าง ๆ รวมถึงแหล่งอาหารการกิน และยังมีประวัติศาสตร์ชุมชน มีคนเก่าคนแก่รุ่นสู่รุ่นที่ยังอาศัยอยู่ด้วย
(ข้อมูลอ้างอิงจาก - หนังสือ ย้อนรอย 100 ปี โคราชวาณิช )
ถึงโพธิ์กลางสองข้างมีโรงร้าน
ขายโตกพานเชี่ยนขันและพรรณผล
ทั้งของกินเครื่องใช้ฉันได้ยล
เหล่าฝูงคนนั่งดูเป็นหมู่กัน
เห็นตึกทาฝาแดงทุกแห่งหน
หลังข้างบนมุงแฝกแปลกแปลกขัน
ล้วนตึกดินดิบต่อมาก่อกัน
ข้างฝ่ายชั้นล่างหลังคาเขาทาดิน
ชมลูกสาวชาวโคราชไม่ผาดผิว
ช่างขี้ริ้วไม่ตำหนิแกล้งติฉิน
จะหายสวยสักคนไม่ยลยิน
จนหมดสิ้นย่านทางโพธิ์กลางมา ฯ
เนื้อหาบางตอนที่พรรณาถึง ถนนโพธิ์กลาง
จาก นิราศหนองคาย ของหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์)
ในสมัยต้นแผ่นดินรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2418 (เป็นบันทึกการเดินทัพ ไปปราบฮ่อที่หนองคาย)
ขอบคุณข้อมูลจากเพจ โคราชในอดีต
งานรากราชสีมา ได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ ของการเพิ่มคุณค่าของงานปิดถนน ที่เคยคุ้นกับการขายสินค้าและอาหาร สู่การนำความรู้ประวัติศาสตร์เมืองโคราชมาจัดกันบนท้องถนน ผลคือ มีผู้คนมาร่วมชมนิทรรศการ กันเป็นจำนวนมากทุกเพศทุกวัย มีการมายืนแลกเปลี่ยนความเห็น เป็นนิทรรศการที่มีความเป็น live exhibition ที่ถูกอกถูกใจทุกคนที่ได้มาชม
รากราชสีมา ในวิถีพื้นบ้านนานมา พารู้จักกับ ศิลปะรำโทน
“เสียงโทนมาจ๊ะเท่งจะ เธอจ๋าอย่าเอนอย่าโอน
รำหน่อยเอวโยกแขนโยน ได้ยินเสียงโทนกระโจนลงมารำ”
รำโทน เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่นิยมเล่นกันมาแต่ครั้งโบราณกาล ในโคราชเป็นการละเล่นที่แพร่หลายสืบต่อกันมากว่า ๙๐ ปี แล้ว โทนโคราช เป็นเครื่องดนตรีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ คือ นิยมใช้ดินด่านเกวียนปั้นเป็นรูปโทนแล้วเผา
ในอดีตทุกบ้านที่มีลูกสาวจะนิยมทำหรือซื้อโทนไว้ เวลาว่างจากการทำงานทุกคนจะมานั่งล้อมวงกัน แล้วตีโทนขึ้นเป็นจังหวะ “ปะโทนโทน ปะโทนโทน” แสดงว่าการรำโทนจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว ในงานรากราชสีมา จะมีลานรำวง ทั้งรำโทนกระโจนมาสู่เพลงลูกทุ่งเปิดแผ่น แน่นๆ เน้นๆ ใครมีเสื้อลายดอกบอกคนข้างบ้านแต่งมาประชันกัน ว่ามันพอไหม เปรี้ยวพอยัง เพราะเวทีนั้นจะทั้งเต้นเล่นรำกันอย่างสุดเหวี่ยง
จากเส้นทางเกวียนในอดีต ที่เมืองโคราชคือเส้นทางหลักของคาราวานเกวียนที่ใช้ขนส่งสินค้าออกเดินทางไปยังทั่วถิ่นอิสาน สู่การเก็บรักษาไว้อย่างดี ณ พิพิธภัณฑ์เกวียน 1 เดียวในโลก
ในงานรากราชสีมา พบกับเกวียนเก่าเล่าตำนาน ที่มีทั้งความงามและความหมาย พร้อมด้วยเรื่องเล่ามากมาย ดังเช่นที่เห็นในภาพนี้ เป็นเกวียนย่อส่วน ขนาด เมื่อ 30 ปีก่อน เป็นเกวียนที่จ้างช่างใน อำเภอ นาสวรรค์จังหวัดบึงกาฬ ทำให้ เพื่ออนุรักษ์งานฝีมือ
จากพิพิธภัณฑ์เกวียนก่อตั้งขึ้นโดยทุนส่วนตัวของอาจารย์วิโรฒ ศรีสุโร อาจารย์ทางด้านสถาปัตยกรรมที่เฝ้าเก็บรักษามรดกอันทรงคุณค่านี้เอาไว้ให้แก่คนรุ่นหลัง
เรารู้แต่ว่า โคราชมีเครื่องปั้นด่านเกวียน แต่ไม่เคยรู้ที่มา
รากราชสีมา จะทำให้เรารู้ลึกรู้ราก กันในงานนี้
สังคมไทย เป็นสังคมเกษตรเพื่อยังชีพมาแต่ครั้งโบราณกาล นอกจากการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ไว้ใช้เป็นอาหารและไว้ใช้แรงงานแล้ว ยังมีความจำเป็นที่จะต้องผลิตสิ่งอื่นที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตไว้ใช้ในครอบครัวด้วย ดังนั้น เวลาที่ว่างจากงานด้านเกษตรกร จึงเป็นเวลาที่ใช้ทำงานด้านหัตถกรรมแล้ว ยังนำส่วนที่มากกว่าความต้องการใช้ไปแลกเปลี่ยนสิ่งอื่นที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ซึ่งครอบครัวไม่สามารถจะผลิตได้เอง เครื่องปั้นดินเผ่าด่านเกวียนก็เป็น ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในลักษณะดังกล่าวข้างต้น
ด่านเกวียน เป็นหมู่บ้านหนึ่งของ ตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ด่านเกวียนนั้นแต่เดิมพ่อค้าจากนางรอง - บรีรัมย์ - สุรินทร์ -ขุนหาญ - ขุขันธ์ เรื่อยไปจนถึงเขมรจะเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับพ่อค้าชาวโคราชและมักจะพักกองคาราวานเกวียนกัน เป็นประจำจนได้ชื่อ หมู่บ้านว่า" บ้านด่านเกวียน " และในขณะพัก พ่อค้าเหล่านั้นก็มักนำดินจากสองฟากฝั่งลำน้ำมูล มาทำภาชนะใช้สอยต่างๆ เช่น โอ่ง อ่าง ไหปลาร้า ฯลฯ โดยลอกเลียนแบบจากชนชาวข่าวซึ่งเป็นกลุ่มชนที่อาศัยในพื้นที่แต่เก่าก่อนหลังจากนั้นเมื่อนำภาชนะเหล่านั้นกลับภูมิลำเนาของตน
ด้วยคุณภาพพิเศษ ของภาชนะทั้งในด้านสีสันความคงทน ดินที่นำมาใช้ เป็นดินเหนียวเนื้อละเอียดที่ขุดขึ้นมาจากริมฝั่งแม่น้ำมูลในพื้นที่ที่ชาวบ้านเรียกว่า กุด ลักษณะลำน้ำที่คดเคี้ยว กัดเซาะตะลิ่งจนขาดและเกิดลำน้ำด้วนขึ้น ส่วนที่เป็นแนวกัดเซาะจะกลายเป็นแหล่งทับทมดิน ดินดังกล่าวนี้เป็นดินซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษ ง่ายต่อการขึ้นรูปทนทานต่อการเผา ไม่บิดเบี้ยวหรือแตกหักง่าย และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือดินนี้เมื่อถูกเผาจะให้สีโดยธรรมชาติเป็นสีแดงซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากธาตุเหล็ก หรือสนิมเหล็กที่มีอยู่จำนวนมาก
ศิลปะเพิ่มความงามและความสุขปลุกเมืองโคราช โดยเฉพาะเมื่อศิลปะสร้างความสนุก และทำให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม มุม top hit อีกจุดหนึ่งของงานรากราชสีมา คือ ลานโปสเตอร์หนังเก่าที่เคยเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เมืองโคราช ในยุคที่เมืองโคราชเฟื่องฟูด้วยโรงหนัง
ร่วมด้วยการจัดฉายหนังกลางแปลงแบบดั้งเดิม จากเสนอจิตร ที่เนรมิตรูปแบบการฉายการพากษ์ และนำอุปกรณ์การฉายโบราณมาจัดให้ชมกัน
รากวิถีประเพณีเทศน์มหาชาติ ชุมชนบ้านพร้าว ต.ดอน ผูกโยงกับขนมที่ 1 ปี จะได้กินแค่ครั้งเดียวนั่นคือ "ขนมหูช้าง" ที่เด็กๆในชุมชนเอามาสร้างสรรค์ใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย
รากวิถีถิ่นชุมชนบ้านคอกวัว ต.หนองกระทุ่ม รากวิถีถิ่นที่มีชีวิต เรื่องเล่าเรื่องราวคุณค่าชุมชนผ่านงานศิลปะตำนานบ้านโฆกงัว วิถีชีวิตที่ผูกร้อยกับธรรมชาติเกษตรปลอดภัยปลอดสาร
รากวิถีกินอยู่ชุมชนบ้านบิง กับเส้นหมี่สูตรดั้งเดิม(หมี่สด)และน้ำปรุงพิเศษที่มีเอกลักษณ์ประจำถิ่น และวิถีเล่น "ด้ามโพล๊ะ" ของเล่นโบราณที่หลายคนเคยเล่นเมื่อหลาย 10 ปีมาแล้ว
เมื่อเมืองโคราชเติบโตขึ้นย่อมมีอาหารใหม่ๆหลากหลายเข้ามา แล้วอาหารดั้งเดิมของเราไปอยู่ที่ไหน คำตอบหาได้ในงานรากราชสีมา อาหารเก่าชาวโคราชยังคงได้รับการทำนุรักษาไว้ในชุมชนคนโคราช ที่ยังสามารถคงไว้ทั้งกระบวนปรุงและรสมือ
นอกจากนี้เรายังได้เห็นภูมิปัญญาโบราณที่มีเรื่องราว จนอยากจะเรียกขานว่า ตำนานรักสากเหมิ่ง ครกที่มีด้ามยาวนั้น แต่วันวาน เขาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารส่งเสียงเรียกหาชายหนุ่ม มาช่วยกันรุมตำ เพื่ออวดเสียงตำ อวดลำหักลำโค่นให้สาวเห็น และให้พ่อตาเป็นใจ หนุ่มใดตำได้ตำดัง หนุ่มนั้นก็ถือได้ว่ามีพลัง และเป็นคนเอางานเอาการ ที่สามารถไว้เนื้อเชื่อใจ ยกลูกสาวให้ได้ สากยิ่งยาว เสียงยิ่งดังไกลออกไปเป็นกิโล หนุ่มๆจึงอยากมาโชว์ตำ
ในงานรากราชสีมา เราเรียกว่า เป็นอาหารที่โชว์ได้ อร่อยกับรสอดีต ที่ยังคงรักษาสืบรากมาให้เราได้ชิม อิ่มหนำ และทำตาม
พ.ศ. 2511-2512 นครราชสีมา
ในช่วงสงครามเวียดนาม สหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยภายใต้ "ข้อตกลงสุภาพบุรุษ" (สัญญาปากเปล่า) ระหว่างไทยและสหรัฐ หน่วยทหารสหรัฐหน่วยแรกเดินทางจากฟิลิปปินส์มาถึงท่าอากาศยานดอนเมืองในเดือนเมษายน พ.ศ. 2501 ตามมาด้วยการลำเลียงวัสดุภัณฑ์และเครื่องจักรหนักจำนวนมากมายังอู่ตะเภาเพื่อนำไปใช้ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและฐานทัพอากาศในประเทศไทย
ในทางนิตินัยถือว่าฐานทัพเหล่านี้เป็นฐานทัพของไทย และมีผู้บังคับการฐานเป็นทหารไทย ด่านเข้าออกฐานทัพถูกควบคุมโดยสารวัตรทหารไทยโดยมีสารวัตรทหารอเมริกันเป็นผู้ช่วยถืออาวุธ แต่หน่วยทหารสหรัฐในไทยรับคำสั่งจากกองบัญชาการของสหรัฐ สหรัฐใช้ฐานทัพในไทย 7 แห่ง คือ ดอนเมือง โคราช นครพนม ตาคลี อู่ตะเภา อุบลราชธานี และอุดรธานี
ฐานทัพอากาศโคราช (Korat Royal Thai Air Force Base) หรือกองบิน 1 ใช้เป็นที่ตั้งของกองบินขับไล่ทางยุทธวิธีที่ 388 และกองบินลาดตระเวนที่ 553 ของสหรัฐระหว่าง พ.ศ. 2505–2518
ในช่วงวันหยุดเหล่าทหารสหรัฐหรือที่เรียกว่าจีไอ (Government Issue ; G.I.) ก็จะมักใช้เวลาพักผ่อน ท่องเที่ยว ซื้อหาความสุขความสำราญ ทำให้ย่านต่างๆในนครราชสีมา มีสถานบันเทิง สถานบริการ เกิดขึ้นเพื่อรองรับทหารเหล่านี้มากมาย ช่วยให้เศรษฐกิจเกิดความคึกคัก แต่เมื่อสหรัฐถอนกำลังทหารออกจากประเทศไทย สถานที่เหล่านั้นก็เป็นแค่ภาพความทรงจำในอดีตเท่านั้น